ชมพุทธประวัติ ฉบับการ์ตูน

Art of Asia: Buddhism - The Art of Enlightenment

ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)

การแนะแนว"อนาคตประเทศไทยกับ 10 อาชีพสุดฮิพ"จัดโดยมูลนิธิไทยคม 10-11 ต.ค.52

Bookmark and Share

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

หยุด!มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช หยุดผลาญชาติทำลายชุมชน(1)

การเมือง : นโยบาย

วันที่ 15 มกราคม 2553 15:14

หยุด!มอเตอร์เวย์บางปะอิน–โคราช หยุดผลาญชาติทำลายชุมชน(1)

ภาพประกอบข่าว




จ่อร้องศาลปกครองสกัดมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชแพงโคตร6หมื่นล้าน 280ล้าน/กม. ร่นทางแค่5ก.ม.ตัดผ่าเขาใหญ่มรดกโลก แสบยัดไส้ผ่านEIA ขัดม.67วรรค2

แม้จะมีข้อครหาอ้างจาก"กลุ่มผู้สนับสนุนอำนาจเก่า" ทำนองว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือ"ผลไม้พิษ"จากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่อีกด้านหนึ่งนักกฎหมายมหาชน และแกนนำภาคประชาชนหลายคนต่างเห็นตรงกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก้าวหน้าด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ยกย่องว่าเป็น"ฉบับประชาชน" 

ดังตัวอย่างรูปธรรมจากชัยชนะของ"ชาวมาบ ตาพุดระยอง" ที่ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ผ่านกระบวนการศาลปกครอง จนสามารถหยุดยั้งมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับ แต่ศาลก็เห็นว่าสิทธิของชุมชนได้รับความคุ้มครองแล้วตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญ

นั่นคือคำอธิบายอย่างรวบรัดที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน 

แต่ขณะนี้ กำลังจะมีการละเมิดสิทธิชุมชม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ที่น่าจับตาเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองอีกคดีหนึ่ง อันเนื่องมาจากความพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา(มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช) มูลค่า 60,000 ล้านบาท ของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม 

ชาวบ้านหลายชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจาก การก่อสร้าง โดยเฉพาะ อ.กลางดง อ.สีคิ้ว และอ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เห็นว่าที่ผ่านมากรมทางหลวงมุ่งดำเนินโครงการแบบ “มัดมือชก” ไม่ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างกว้างขวางเท่าที่ควร ยิ่งกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจของชุมชนก็เป็นไปอย่างจำกัด 

ก่อนโครงการนี้จะได้"ไฟเขียว" คือได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ในเดือนพฤศจิกายน 2549 แต่ด้วยปัญหาทางการเมืองในปี 2550 - 2551 โครงการนี้จึงถูกชะลอไว้ และถูกฟื้นอีกในปี 2552 ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ก็ได้รับการร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส ความไม่คุ้มค่าของโครงการ และผลกระทบต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชนตลอดแนวทางก่อสร้าง ตลอดจนการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง 

ต่อมา วันที่ 18 ธันวาคม 2552 คณะกรรมาธิการศึกษาฯ วุฒิสภา ร่วมกับ คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบในทรัพย์สินของรัฐ วุฒิสภา ได้จัดการเสวนา “โครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช 6 หมื่นล้าน : ใครได้-ใครเสีย” ณ อาคารรัฐสภา มีผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ถูกผลระทบ มาร่วมประมวลข้อเท็จจริงและความคิดเห็นอย่างมากมาย พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

มอเตอร์เวย์ได้ไม่คุ้มเสีย: ย่นระยะทางจากเดิมแค่ 5 ก.ม.

นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ เลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2540 กลุ่มประชาสังคมโคราชได้ประมวลความต้องการของประชาชนไว้ 11 เรื่อง จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ทำ แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม(โสภณ ซารัมย์) จะผลักดันแต่โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ทั้งๆ ที่ชาวอีสานไม่ต้องการ ด้วยเหตุผล

1) เป็นการพัฒนาแบบยัดเยียด โดยนายกรัฐมนตรี(นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ) เคยชูเรื่อง“รถไฟรางคู่” ในการหาเสียงที่ผ่านมา แต่กลับให้รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยยัดเยียดมอเตอร์เวย์ลงมา

2) เป็นการพัฒนาแบบทำลายสิ่งแวดล้อม ในอดีตชาวโคราชเคยต่อต้านโรงไฟฟ้าลำตะคอง(แบบสูบกลับ) มูลค่า 23,000 ล้านบาท แต่ภาครัฐก็ดึงดันสร้าง ถึงวันนี้ต้องตรวจสอบความคุ้มค่าโครงการนี้

3) ก่อให้เกิดความแตกแยก ที่ผ่านมา ว่าจ้างสถาบันการศึกษาออกแบบสอบถามประชาชน(ที่มีรถยนต์) ว่าโครงการมอเตอร์เวย์ฯ ดีหรือไม่ เป็นการชี้นำคำตอบในตัว และเพิ่มความแตกแยกขัดแย้งกันมากอยู่แล้วจากโครงการขุดอุโมงค์กลางเมือง

นายทวิสันต์ กล่าวอีกว่า ข้อดีมอเตอร์เวย์ฯ ตามข้ออ้างของกรมทางหลวง ส่วนใหญ่เลื่อนลอย เช่น ถนนมิตรภาพมีรถยนต์เพิ่มประมาณร้อยละ 20 ต่อปี มอเตอร์เวย์ฯจะแก้ปัญหาได้ ค่าก่อสร้างจะสูงขึ้นทุกปีจึงจำเป็นต้องรีบก่อสร้าง(ด้วยเงินโครงการไทยเข้ม แข็ง) นอกจากนี้ จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ แม้จะย่นระยะจากเดิมได้ 5 กิโลเมตร แต่จะลดเวลาเดินทางจาก 3 ชั่วโมง เหลือ 2 ชั่วโมง(ถ้าสามารถทำความเร็วได้) 

ส่วนข้อเสีย มอเตอร์เวย์ฯ สำคัญๆ มีดังนี้ เพิ่มค่าใช้จ่ายเดินทางของประชาชน(ค่าผ่านทาง) เที่ยวละ 200 บาท ผู้ประกอบการผลักภาระให้ผู้บริโภคทั้งค่ารถโดยสารและค่าขนส่งสินค้า

ค่าก่อสร้างเงินกู้เป็นหนี้สาธารณะที่ คนไทยต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากเกินร้อย 60 ต่อ GDP(ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศในอนาคต

ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหา คอร์รัปชันได้ ล่าสุดคะแนนชี้วัดภาพลักษณ์ความโปร่งใสของไทยอยู่ที่ 3.4 จากคะแนนเต็ม 10 ใครจะรับประกัน 60,000 ล้านบาทจะไม่มีคอร์รัปชัน

ประชาชนตลอดเส้นทางก่อสร้างยังไม่ทราบ ข้อมูล ข้อดี-ข้อเสียของโครงการ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิชุมชน ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง

วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนจะถูกทำลาย ตั้งแต่ อ.แก่งคอย อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ ฯลฯ เพราะมอเตอร์เวย์จะมีรั้วกั้นแบ่งแยกตัดขาดชุมชนเป็น 2 ฝั่ง ยากต่อการข้ามไปมาหาสู่ 

ถนนมิตรภาพยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ เพราะช่องซ้ายชำรุดเกือบตลอดแนว หากซ่อมบำรุงให้ดีจะลดอุบัติเหตุและระบายการจราจรได้ดีขึ้นในช่วงเทศกาล 

รถยนต์ทุกชนิดสามารถใช้มอเตอร์เวย์ได้ ทำให้รถที่มีความเร็วสูงไม่สามารถใช้ความเร็วได้เกิน 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงไม่ใช่ทางเลือกใหม่ และอาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากรถที่ไม่ได้มาตรฐาน

มอเตอร์เวย์ทำใครเข้มแข็ง แพงโคตร 280ล้าน/ก.ม. 

ทันตแพทย์ ศุภผล เอี่ยมเมธาวี ผู้ประสานงานสมัชชาประชาชนภาค อีสาน 19 จังหวัด กล่าวว่าคนโคราชส่วนใหญ่ไม่ต้องการมอเตอร์เวย์ เช่นเดียวกับคนนครปฐมไม่ต้องการมอเตอร์เวย์ลงใต้ จากการไปศึกษาดูงานประเทศเวียดนาม ต้นทุนค่าขนส่งเวียดนามเท่ากับร้อยละ 25 ของ GDP ส่วนต้นทุนค่าขนส่งของไทยอยู่ที่ร้อยละ 19 ต่อ GDP 

กรมทางหลวงมีแผนจะสร้างมอเตอร์เวย์รวม 5 สาย เริ่มจากบางปะอิน - โคราช โดยอ้างเหตุผลทางจราจร ความปลอดภัย การกระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อมเส้นทางขนส่งจากอันดามันสู่ประเทศลาวและเวียดนาม โดยไม่คำนึงว่าต้นทุนการขนส่งทางถนนของไทยสูงกว่าระบบราง 4 เท่าตัว 

ขณะที่เวียดนามกำหนดยุทธศาสตร์ในปี ค.ศ.2020 เวียดนามจะเปิดเดินรถไฟหัวกระสุน(ชินคันเซน) ความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเมืองดานังเชื่อมระบบขนส่งครอบคลุมทั้งประเทศ

ทันตแพทย์ศุภผล เปรียบโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช เสมือน“เส้นทางไฮโซ” ระยะทาง 199 กิโลเมตรจ่ายค่าผ่านทาง 200 บาท/เที่ยว แต่ต้นทุนรวมโดยเฉลี่ยประมาณ 280 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ขณะที่รถไฟหัวกระสุนมีต้นทุนค่าก่อสร้างเฉลี่ย 130 ล้านบาทต่อกิโลเมตร เทียบกับค่าก่อสร้างระบบรถไฟรางคู่ของไทยเฉลี่ย 180 ล้านบาทต่อกิโลเมตร จึงชวนให้คิดว่าโครงการนี้"ใครเข้มแข็ง"

"มอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงทั้ง 5 สายจะต้องใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาสร้างระบบรางคู่ได้ทั่วประเทศ แต่รัฐบาลคิดไม่เป็น วันนี้พิสูจน์แล้วว่าเขื่อนลำตะคองสูบกลับใช้ไม่ได้ ชาวบ้านเคยคัดค้านแต่ก็ไม่ฟัง แล้วใครจะรับผิดชอบเงินลงทุน 23,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงขอยืนยัน ระบบราง คือคำตอบสุดท้ายที่จะทำให้ต้นทุนการขนส่งของไทยลดลงจากร้อยละ 19 ต่อ GDP เหลือร้อยละ 11 ต่อ GDP" ทันตแพทย์ศุภผล กล่าว

กรมทางหลวง เหลวไหล! ชวนประชาชนร้องศาลปกครอง

นายประเทือง ปรัชญพฤทธิ์ ประธานเครือข่ายรณรงค์สื่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่าได้ติดตามโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช ตั้งแต่เริ่มก่อตัวในปี 2547 - 2548 ขณะนั้นต้นทุนโครงการ 29,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาทในปัจจุบัน และเชื่อว่าต่อไปอาจจะเพิ่มถึง 100,000 ล้านบาท  

"กรมทางหลวงทำโครงการเหลวไหลประจำ ชอบทำประชาพิจารณ์แบบงุบงิบตามสไตล์ ภาคประชาชนสามารถตอบโต้กรมทางหลวงได้ทุกประเด็น ที่ควรจับตาก็คือการจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการ 4 ราย วงเงิน 76 ล้านบาท เพื่อจะได้เห็นเส้นทางคอร์รัปชัน รวมทั้งงบประมาณที่กำลังจะจ่ายกว่า 100 ล้านบาทเพื่อเตรียมเวนคืนที่ดิน หากโครงการนี้ยกเลิกไป ใครจะรับผิดชอบงบประมาณที่จ่ายไปแล้ว"

นายประเทือง กล่าวด้วยว่า กรมทางหลวง คิดไปทำไป เปิดช่องให้เกิดคอร์รัปชันอย่างร่าเริง ตั้งงบประมาณตามอำเภอใจ เงิน 60,000 ล้านบาทควรเอาเงินมาสร้างรถไฟรางคู่ที่มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ใช้สอย มากกว่า ดังนั้น จึงไม่ควรเสียเวลากับโครงการเหลวไหล และขอเชิญประชาชนที่คิดว่าได้รับผลกระทบไปทอดกฐินที่ศาลปกครอง

ย่ำยีมรดกโลกเขาใหญ่ ชวนฟ้องศาลปกครอง ใช้ม.67 วรรคสอง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ (ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี) กล่าวว่าโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช ผ่ากลางพื้นที่มรดกโลกของอุทยาทแห่งชาติเขาใหญ่ ผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์ป่ามากถึง 800 สายพันธุ์ สำนักทางหลวงที่ 8 ก็ยอมรับในเว็บไซต์กรมทางหลวงว่า โครงการนี้บุกรุกป่าในบริเวณมรดกโลก ดังนั้น กรมทางหลวงควรเสนอให้รัฐบาลถอนมรดกโลกก่อนสร้างมอเตอร์เวย์ เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกประจานภายหลัง 

ถ้ากรมทางหลวงไม่เสนอให้ถอนมรดกโลก ภาคประชาชนก็จะทำหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ให้มาตรวจสอบผลกระทบของโครงการมอเตอร์เวย์ฯ เพราะกว่าเขาใหญ่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี นอกจากนี้แนวก่อสร้างยังตัดผ่านโบราณสถานสำคัญคือ แหล่งตัดหินสีคิ้ว (ที่ใช้สร้างปราสาทหินพิมาย) และ เมืองโบราณเสมา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบใน ทรัพย์สินของรัฐ วุฒิสภา ในฐานะผู้ดำเนินรายการ แสดงความเห็นเสริมว่า เมื่อโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช ไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ดังนั้น ประชาชนสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลตามบทบัญญัติในวรรคสาม (สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง) 

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญฯ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าหัวใจของการประชาพิจารณ์คือการมีส่วนร่วมของประชาชน การศึกษาผลกระทบด้านสังคม (Social Impact Assessment : SIA) คือส่วนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบ EIA ในปี 2542 - 2544 และมีโอกาสศึกษาปัญหา SIA ในการก่อสร้างทางหลวงสาย “นครปฐม-ชะอำ” จึงได้ข้อสรุปจากบทเรียนที่ผ่านๆ มาว่า ประชาชนไม่ควรปล่อยโครงการที่ไม่ชอบใจให้ผ่านไป เพราะจะต้องทนอยู่กับผลกระทบอย่างถาวร 

ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวต่อไปว่า โครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช ผ่านความเห็นชอบ EIA ในเดือนพฤศจิกายน 2549 แต่ปัจจุบันเราใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ดังนั้น กรมทางหลวงจะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่บัญญัติไว้มีตัวแปร ใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยคือ การให้ความเห็นขององค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวเน้นเรื่องสุขภาพ ดังนั้น การศึกษาเรื่อง SIA ก็คือการคุ้มครองสุขภาวะของผู้มีส่วนได้เสีย แต่โครงการนี้ไม่ได้มีการศึกษาเรื่อง SIA

หนุนใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ : แผงลอยลำตะคองนับพันรอวันเจ๊ง!

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ และประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ในฐานะประธานในที่ประชุม ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า 

การทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเรามีมาก เหลือเกิน มีโครงการที่ไม่จำเป็นมากมาย เช่น ถนนควายเดิน และ โค้งทรราช นักการเมืองจะคิดโครงการจากความต้องการเม็ดเงินที่จะคอร์รัปชัน แล้วจึงค่อยคิดตั้งโครงการ การเอาชนะคอร์รัปชันต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น กรณีทุจริตยาในอดีต องค์ประกอบทุกอย่างพร้อม กล่าวคือ คนในประชาคมสาธารณสุขต้องการปราบคอร์รัปชัน ภาคประชาชนก็เข้มแข็ง เมื่อผนึกกำลังกันจึงสามารถจับนักการเมืองติดคุกได้ เช่นเดียวกับบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่เปรียบเสมือนหัวหอก ซึ่งจะทะลุทะลวงได้ก็ต้องอาศัยกำลังจากด้ามหอกคือประชาชน เพราะฉะนั้นอย่าโยนความคาดหวังทั้งหมดไว้กับหัวหอก 

นางสาวรสนา กล่าวต่อไปว่า กรณีศาลปกครองสั่งยกเลิกเพิกถอนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) เพราะศาลเห็นว่านโยบายดังกล่าวขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยไม่ได้พิจารณาประเด็นการบิดเบือนมูลค่าสินทรัพย์ให้มีต่ำกว่าความเป็น จริงของ กฟผ.ก่อนจะเข้าตลาด ดังที่กล่าวกันว่าคอร์รัปชันและอาชญากรรมจะทิ้งร่องรอยเสมอ ผู้ร้องต้องรู้จักหยิบยกประเด็นขึ้นฟ้อง คดี กฟผ.และ ปตท.ที่ภาคประชาชนชนะ ไม่ใช่เพราะประเด็นคอร์รัปชัน แต่กลับเป็นกระบวนการไม่มีส่วนร่วม อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องควรยื่นทุกประเด็น เพราะถ้าศาลไม่รับ ศาลก็จะต้องตอบทุกประเด็นเช่นกัน เช่นเดียวกับคดี ปตท.ในเบื้องต้นมีเสียงวิจารณ์ว่าร้องไปก็แพ้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยหารู้ไม่ว่าเราไม่ได้มุ่งประเด็นนี้

นางสาวรสนา เปิดเผยด้วยว่า ศาลปกครองจะพิจารณาเฉพาะการกระทำทางปกครองที่ทำให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ เสียเดือดร้อน ผู้ร้องต้องเขียนให้เข้าช่องทางให้ถูก ดังนั้น กฎหมายก็คือเครื่องมือ ประชาชนต้องฝึกใช้ให้เป็น ถ้าใช้เป็นแล้วการตรวจสอบคอร์รัปชันก็จะเข้มข้น
ประชาชนประสานเสียงต้องหยุดโครงการ

นายประสาน ยุวานนท์ แกนนำชาวปากช่อง แสดงความคิดเห็นว่า ถ้ายับยั้งโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช ได้ จะช่วยประหยัดเงินให้ประเทศชาติและหยุดย่ำยีคนปากช่อง เพราะโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อแผงลอยนับ 1,000 แผงที่บริเวณลำตะคอง ผู้ค้าจะเดือดร้อน เพราะรถวิ่งอยู่ข้างบน ใครจะลงมาซื้อของ ขณะที่ผู้รับเหมาได้เงินหลายหมื่นล้านบาท 

นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ เครือข่ายธรรมาภิบาล แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยอ่อนแอมากเพราะปัญหาคอร์รัปชัน โดยส่วนตัวไม่อยากเป็นด้ามหอก เพราะไม่อยากเป็น “ไอ้หอกหัก” แต่จะขอเป็น “ก้างขวางคอ” พวกคอร์รัปชัน โดยข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่าโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช ไม่มีความจำเป็น เพราะถนนมิตรภาพสามารถรองรับได้อีกมาก กรมทางหลวงอย่าใช้ปริมาณรถยนต์ในช่วงเทศกาลมาอ้าง ดังนั้น ขอสนับสนุนให้ประชาชนฟ้องศาลปกครอง

หวั่นวิถีชุมชนย่อยยับ : มลพิษลงสู่แหล่งน้ำดิบลำตะคอง 

นายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ตั้งคำถามว่า การคัดค้านโครงการนี้จะเหมือนโครงการเช่ารถเมล์ NGV ที่รัฐบาลมุบมิบอนุมัติจนได้หรือไม่ อีกทั้งขบวนการต่อสู้คัดค้านจะดำเนินต่อไปอย่างไร และงบประมาณ 60,000 ล้านบาท สามารถนำมาสร้างระบบรถไฟหัวกระสุนได้หรือไม่

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ตอบข้อซักถามในเรื่องรถเมล์ NGV ว่า มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเช่ารถเมล์ NGV 4,000 คัน แบบข้างๆ คูๆ เสมือนหนึ่งว่าอนุมัติไปแล้ว แต่แท้จริงแล้วเป็นการอนุมัติหลักการที่ ขสมก.ไม่สามารถปฏิบัติได้ เว้นแต่จะลดจำนวนเหลือ 500 คัน โดยวุฒิสภาและภาคประชาชนยังคงเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด หากเกิดความเสียหายขึ้น คณะรัฐมนตรีก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ 

แกนนำชาวปากช่อง (ไม่ทราบชื่อ) แสดงความเห็นว่า ผลเสียของโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช คือ ตัดขาดวิถีชีวิตและการค้าขายของชุมชน เพียงเพื่อส่งเสริมให้รถยนต์วิ่งเร็วขึ้นในระยะทาง 199 กิโลเมตร วิศวกรกรมทางหลวงก็ยอมรับว่าโครงการนี้ไม่มีประโยชน์ แต่จำเป็นต้องทำตามหน้าที่ 

นายเสงี่ยม เอกโชติ นักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว แสดงความเห็นว่าประเทศไทยขยายถนนมากเกินไป อย่างไรก็ตามโดยหลักการก่อสร้างทางพิเศษไม่ควรสร้างให้คดเคี้ยว ประเด็นก็คือมอเตอร์เวย์ฯ ประหยัดระยะทางกว่าเดิมเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น การสร้างให้คดเคี้ยวเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ใครหรือไม่

แกนนำชาวปากช่อง (ไม่ทราบชื่อ) แสดงความเห็นว่าโครงการนี้แบ่งแยกพื้นที่ 2 ฝั่ง วิถีชีวิตของคนและสัตว์จะเปลี่ยนไปตลอดกาล นอกจากนี้มลพิษจากท่อไอเสียบนมอเตอร์เวย์ จะลงสู่ลำตะคองซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบของเมืองโคราช ถนนมิตรภาพก็ดีอยู่แล้ว ปัญหาก็คือกรมทางหลวงไม่ยอมซ่อมช่องทางที่ชำรุด แต่กลับจะซ่อมในช่วงเทศกาลอย่างไร้เหตุผล ทำให้เกิดปัญหาจราจรตามมา 

นางชินพร (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้ใหญ่บ้านหนองน้ำแดง อ.ปากช่อง เปิดเผยว่าชาวปากช่องรายหนึ่งแจ้งเตือนให้ระวังเรื่องการเวนคืนที่ดินของกรม ทางหลวง เนื่องจากเคยโดนหลอกมาแล้วจากการถูกเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางยกระดับแยก บายพาสปากช่อง จากที่เคยตกลงว่าจะจ่ายให้ 200,000 บาทต่อไร่ แต่สุดท้ายได้เพียงไร่ละ 80,000 บาท

พ.ต.อ.เดชา ผลลาภกิจ ข้าราชการบำนาญ แสดงความเห็นว่า น้องชายของตนทำไร่ที่บริเวณเชิงเขาปากช่องมากว่า 30 ปี วันหนึ่งกรมทางหลวงก็มาวางแนวก่อสร้างห่างจากไร่ของเขาไม่ถึง 2 กิโลเมตร โดยกรมทางหลวงไม่ได้เดินสำรวจแม้แต่น้อย นอกจากนี้ในการจัดประชุมประชาพิจารณ์ของกรมทางหลวง ก็มีการออกแบบสอบถามเชิงชี้นำ ทุกข้อล้วนแฝงการสนับสนุนโครงการทั้งสิ้น 

นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพ็ชร ประธานสภาราษฎร แสดงความเห็นว่า ขอเสนอให้ทั่วโลกใช้ระบบรถไฟในมาตรฐานเดียวกัน ทั้งระบบรางคู่ ขนาดหัวรถจักรและตู้บรรทุก เพื่อเชื่อมระบบ Railway ของโลก 

นายประเสริฐ เลิศยะโส องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (จ.บุรีรัมย์) แสดงความเห็นว่า ต้องหยุดโครงการมอเตอร์เวย์ บางปะอิน - โคราช ที่ต้นเหตุคือคณะรัฐมนตรี กรมทางหลวงเป็นปลายเหตุ ประชาชนชาวอยุธยา สระบุรี ปากช่อง ต้องผนึกกำลังเรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.ช่วยระงับโครงการ พร้อมกับการยื่นร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและอื่นๆ นอกจากนี้ควรจัดกองกำลังเฝ้าระวังพื้นที่ก่อสร้าง ในส่วนของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ก็ควรจัดเสวนาเปิดโปงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/policy/20100115/95619/%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%94!%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E2%80%93%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A-%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99%281%29.html
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.thaifreedompress.blogspot.com/
http://sunblog1951.blogspot.com/ sunday
http://blogpwd.blogspot.com/ pwd9
http://ktblog1951.blogspot.com/ pwday
http://newsblog9.blogspot.com/ news
http://bloghealth99.blogspot.com/ health
http://labour9.blogspot.com/ labour
http://www.media4democracy.com/th/
http://www.youngtelecom.org/
http://www.logex.kmutt.ac.th/
http://www.mict4u.net/thai/
http://www.chula.ac.th/visitors/thai/calendar.htm
http://www.agkmstou.com/2008/index.php
http://www.baanjomyut.com/library/lotus/index.html
http://www.asianbarometer.org/newenglish/introduction/default.htm
http://www.isriya.com/node/2809/wordcamp-bangkok-2009-pool-party

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น