ชมพุทธประวัติ ฉบับการ์ตูน

Art of Asia: Buddhism - The Art of Enlightenment

ใครๆก็แก้กฎหมายได้(คุณก็ด้วย)

การแนะแนว"อนาคตประเทศไทยกับ 10 อาชีพสุดฮิพ"จัดโดยมูลนิธิไทยคม 10-11 ต.ค.52

Bookmark and Share

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

ท่ามกลางความต่าง-แยก คนไทยเข้าใจ "สันติวิธี" ในบริบทไหน



วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 18:08:09 น.  มติชนออนไลน์

ท่ามกลางความต่าง-แยก คนไทยเข้าใจ "สันติวิธี" ในบริบทไหน

โดย ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"การไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำอะไรปล่อยให้เป็นไป ในสายตานักสันติวิธี ถือว่า ไม่ใช่สันติวิธีเพราะเป็นการเอื้อให้ความรุนแรงดำเนินต่อไป"


ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้นที่เยอรมนีบุกเดนมาร์ก วันแรกของการยึดครอง 9 เมษายน ค.ศ.1940 มีชาวเดนมาร์กคนหนึ่งชื่อ "ฮาเน่เซท" ทนไม่ได้ที่พบเห็นผู้คนในเมืองเล็กๆ ของเขาเป็นมิตรเหลือเกินกับคนเยอรมัน วันนั้นเขาพกพาความรู้สึกโกรธกลับเข้าบ้าน แล้วนั่งลงพิมพ์ข้อความ ที่เขาเรียกเองว่า Commandment  "บัญชาให้เพื่อนชาวเดนส์ได้ทำ" จำนวน 25 แผ่น


ข้อแรก อย่าไปทำงานในเยอรมันกับนอร์เวย์
ข้อสอง ถ้าเยอรมันให้ทำงาน ก็ทำเลวๆ ทำให้แย่ลง
ข้อสาม ทำช้าๆ
ข้อสี่ ทำลายเครื่องมือบางอย่าง
ข้อห้า ทำลายทุกอย่างที่เป็นประโยชน์กับเยอรมัน
ข้อหก ขับรถช้าๆ ทำการขนส่งให้ช้าลง
ข้อเจ็ด อย่าไปดูหนังเยอรมัน อิตาเลี่ยน อย่าอ่านหนังสือพิมพ์ของคนเหล่านี้
ข้อแปด อย่าไปซื้อของร้านนาซี
ข้อเก้า ให้ปฏิบัติกับคนทรยศอย่างที่ควรจะเป็น
ข้อสิบ เยอรมันไล่ใครเราไปช่วยคนนั้น


เมื่อ พิมพ์เสร็จแล้ว นายคนนี้ก็นำคำบัญชาหย่อนใส่ไปในตู้จดหมายของบรรดาคนที่มีชื่อเสียงในเมือง ของเขา พอคนได้รับรู้ข้อความก็มีการลอกและพิมพ์ส่งจากมือต่อมือ จากปากต่อปาก กลายเป็นพันๆ แผ่น ที่น่าสนใจเด็กหนุ่มคนนี้ ตอนทำนั้นอายุแค่  17 ปี


ตัวอย่างข้างต้น ตอกย้ำ ปราฎการณ์ให้เราเริ่มเห็น "กระบวนการสันติวิธี" ที่ไม่รู้จักหัวหน้า จากยุคหนึ่งเราได้ยินชื่อนางอองซานซูจี เนลสัน แมนเดลา มหาตมะ คานธี มาร์ตินลูเธอร์คิง หรือแม้กระทั่งสมัชชาคนจนที่ไม่มีวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ไม่ได้หมายความว่า หายไป แต่แปลว่า สันติวิธีเริ่มเข้าไปอยู่ในคน


ความขัดแย้งทุกชนิดมีอายุ


สำหรับ ประเทศไทย มีคนตั้งคำถาม ทำไมสันติวิธีในสังคมไทยจึงเป็นเรื่องยาก ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายพยายามจะทำ ในมุมมองของนักสันติวิธี  ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอย่างเชื่อมั่นในเวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะของคนไทย ครั้งที่ 29 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กทม. ว่า ทำได้ เพราะสันติวิธีเป็น  Vision critical ไม่ใช่ Vision impossible 


เมื่อ มองปรากฎการณ์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน อีกทั้งยังไม่เหมือนความขัดแย้งเดิมๆ ผ่านแว่นสายตานักสันติวิธี สิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์เห็นคือขบวนการประชาชนขนาดใหญ่ที่ผลักกัน มีจำนวนมากทั้ง 2 ฝ่าย มีทุนหนุนหลังทั้ง 2 ฝ่าย มีกลุ่มชนชั้นนำ (elite) หนุนหลังทั้ง 2 ฝ่าย และมีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองในระบบ มีสื่อมวลชนของตัวทั้ง 2 ฝ่าย หากสังคมไทยยังเป็นแบบนี้จะอยู่บนฐานของปัญหาที่ยุ่งยากมาก
 

"ความขัดแย้งทุกชนิดมีอายุ คำถามคือความขัดแย้งส่งผลอย่างไร ตอบตรงที่สุดเวลามันอายุยืน จะกร่อนสถาบันทุกชนิดที่คอยช่วยเหลือประคับประคองสังคมอยู่ ลากสถาบันไปด้วย ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการความขัดแย้ง ทำให้ค่อยๆ อ่อนกำลังลง มีผลการศึกษาเรื่องนี้ในอูกานดา นอร์ธเทิร์น ไอร์แลนด์ ฯลฯ


ขณะนี้สิ่งที่เราเห็นความต่างแยกอยู่ในเนื้อสังคมไทยที่สภาพต่างๆ อ่อนกำลังลงกว่าที่เคยเป็นมา การจัดการและเผชิญกับความขัดแย้งจึงยากขึ้น ขณะที่ขบวนการสีเหลืองและสีแดงพยายามใช้กระบวนการสันติวิธีบรรลุวัตถุประสงค์ของตัว ในเวลาที่ต่างกัน"


7 วิธีที่มนุษย์ใช้โต้ตอบความขัดแย้ง 


ในตำรามนุษย์พูดถึงการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ การต่อสู้ ประท้วง คัดค้าน การไม่ให้ความร่วมมือ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ บอกว่า  วิธีที่มนุษย์ใช้เพื่อโต้ตอบกับความขัดแย้ง มี 7 วิธี อันแรกคือคุยหรือเจรจา, การใช้กฎหมาย, นำเรื่องขึ้นฟ้องต่อศาล, การใช้ความรุนแรงต่อคน, การใช้ความรุนแรงต่อคนและสิ่งของ, การใช้ความรุนแรงต่อสิ่งของ และสันติวิธี "แต่ที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้ คือการไม่ทำอะไรเลย ไม่ทำอะไรปล่อยให้เป็นไป ซึ่งการไม่ทำอะไร ในสายตานักสันติวิธี ถือว่า ไม่ใช่สันติวิธีเพราะเป็นการเอื้อให้ความรุนแรงดำเนินต่อไป


ถาม ว่าเกี่ยวอะไรกับเรื่องทั้งหมดนี้ คำถามคือกรณีการยึดสนามบินสุวรรณภูมิเป็นหรือไม่เป็นสันติวิธี บุกเข้าไปในที่ประชุมอาเซียนที่พัทยา เป็นหรือไม่เป็นสันติวิธี
 

อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ให้โจทย์บางอย่างที่น่าสนใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในบ้านเมืองว่า หากเราอยากเข้าใจสันติวิธี เราจะเข้าใจสันติวิธีแบบไหน ก็ในเมื่อสันติวิธีก็มีหลายอย่าง


วิธี ของสันติวิธีแบ่งออกเป็น 3 แบบ

1.การชักจูงชักชวน ประท้วงเชิงสัญลักษณ์

2.การไม่ให้ความร่วมมือ และ

3. การเข้าไปแทรกแซงโดยตรง แต่ในบริบทของสันติวิธีวันนี้เปลี่ยนแปลงไป อาจารย์ชัยวัฒน์ มองว่า 

มีคนใช้สันติวิธี

1.ต่อต้านเผด็จการในลักษณะต่างๆ

2. เผชิญกับอำนาจทุน เช่นขบวนการชาวบ้านต่อสู้กับโรงงานขนาดใหญ่ หรือกรณีบ้านครัวต่อสู้กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น

3.เผชิญกับรัฐบาลประชาธิปไตย (ที่ไม่น่ารัก) หรือประชาธิปไตยอำนาจนิยม คือการยอมรับประชาธิปไตยในแง่ที่มา

ดังนั้น เราจะสับสนไม่ได้ระหว่างการใช้สันติวิธีเพื่อต่อต้านเผด็จการ กับการใช้สันติวิธีเผชิญกับประชาธิปไตยอำนาจนิยม ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน


"หากเราเห็นว่ารัฐบาลนั้นไม่น่ารักอย่างเดียวแต่ลืมว่าเป็นประชาธิปไตย เราก็เข้าใจผิด เหมือนวันนี้ความขัดแย้งในสังคมไทยยังมีอยู่ คนจำนวนมากไม่ยอมรับ ความชอบธรรมของรัฐบาลปัจจุบัน บนฐานนี้ พูดอย่างไรก็อธิบายลำบาก นี่คือบริบทที่เปลี่ยนไปย่อมส่งผลให้สันติวิธีเปลี่ยนไปด้วย"


ฐานของสันติวิธี ไม่ใช่แค่อยู่ในหัว


ศ.ดร.ชัยวัฒน์  อธิบายความหมายญาณวิทยาของสันติวิธี คือ ทุกอย่างที่เราคิดเราทำ อยู่บนฐานของอะไรบางอย่างที่เราเชื่อว่า เป็นความรู้ "ญาณวิทยาของโลกนี้มีหลายสำนัก ย้อนไปคิดทฤษฎีฝรั่ง คือ แนวความคิดของ 
René Descartes  เพราะฉันคิดฉันจึงเป็นอยู่ ภาษาละติน cogito ergo sum สิ่งที่ทำคือการแยกเราออกมาจากอื่น ให้ความสำคัญกับความคิดเป็นหลัก ซึ่งแนวคิดนี้อาจใช้ได้กับสังคมทั่วไปในทางสังคมศาสตร์


แต่ในระยะหลังมีความคิดของ Schmitts นักทฤษฎีคนสำคัญเยอรมันประมาณปี ค.ศ.1930 พูดถึง ความเป็นการเมือง ว่า ต้องแยกมิตรแยกศัตรู Distinguo ergo sum สำหรับมนุษย์ศัตรูสำคัญกว่ามิตร เพราะการมีศัตรูบอกว่าเราเป็นใครมากกว่าการมีมิตร"


สำหรับ สันติวิธี ในมุมมองนักสันติวิธีผู้นี้ ไม่ได้อาศัยทั้ง 2 อย่างที่กล่าวมา แต่ใช้ Spiro ergo sum คือหลักที่บอกว่า ฉันหายใจฉันจึงเป็นอยู่ อยู่บนฐานของศาสนธรรมที่เราเป็นผลของมัน เราเชื่อมกับสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา


"ผม เชื่อว่านี่เป็นฐานของสันติวิธี ไม่ใช่แค่อยู่ในหัว หรือบอกพวกเราไม่ใช่พวกเขา นี่สีเหลือง เสื้อแดง นี่ไทยเขมร นาซี กับยิว แต่หากฐานของสันติวิธีเป็นฐานในทางญาณวิทยาแบบนี้ หมายความว่า ในการนิยามตัวเรา ในคนอื่นมีตัวเราเสมอ เราไม่ได้แยกกับคนอื่นเหมือนที่เราคิด หากเราตระหนักตรงนี้จะเห็นโลกอีกอย่าง ฉะนั้นสันติวิธีจะคิดเห็นคนอื่นเป็นศัตรูอย่างที่ฉันคิดว่าไม่ได้ เพราะจะเป็นฐานของสงคราม สันติวิธีสู้ก็จริง แต่ไม่สู้ในลักษณะสงคราม" 


นี่คือสิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์นำเสนอให้เห็น พร้อมยกประสบการณ์ในต่างประเทศที่มีการใช้สันติวิธีประกอบ เช่น ไอร์แลนด์เหนือ ตั้งแต่ค.ศ. 1967-1972  มีความน่าสนใจ ค.ศ. 1969 แม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองแล้วก็ตาม แต่ไม่มีใครเสียชีวิต เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปี มีคนเสียชีวิตจากการต่อสู้ 497 คน จะเห็นว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง  กลุ่ม Irish Republican Army (IRA) เริ่มเห็นความรุนแรงมีความจำเป็น หรือพูดง่ายๆ ว่าเงื่อนไขต่างๆ ในสังคมเสียงสุดโต่งได้กลายเป็นเสียหลักไปแล้ว


สันติวิธีคนใช้ต้องทนรับความเจ็บเสียเอง


ถามว่ามีหลักหรือไม่ในการแยกสันติวิธี อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ.ให้ดูว่า 

1.ถ้าเป็นความเกลียดชัง สันติวิธีจะหายไปหมด เพราะความเกลียดชัง คือยาพิษ ใส่เข้ามาในสังคมแล้วไม่หมด ถือเป็นอคติร้ายแรง อันตรายยิ่งกว่าโกรธ หลง หลายประเทศจึงมีกฎหมายห้าม ที่เรียกว่า Hate Speech คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง เพราะเวลาเราได้ยินแบบนี้เราจะเกลียดคน ทั้งๆ ที่คนเป็นผลของเหตุปัจจัยอื่นๆ แทนที่จะแก้ไขปัญหาใหญ่ 


2. เป้าหมายกับความเป็นธรรม เวลาพูดถึงสันติวิธีต้องเห็น วิธีที่เราใช้นำไปสู่เป้าบางอย่าง แปลว่า วิธีการกับเป้าหมายเชื่อมกัน เราไม่สามารถไปสู่เป้าหมายที่ดีโดยวิธีการที่มีปัญหา สมมติเราใช้การก่อการร้าย ไล่ขว้างระเบิดไปเรื่อยๆ เราจะสร้างสังคมที่เป็นธรรม ทำไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหน่อเนื้อเชื้อของความร้ายแรงที่จะตามมา อีกตัวอย่าง ที่ดีที่สุด คือ  การปฏิวัติฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1789 เป้าดีแต่ผลกินตัวมันเอง การปฏิวัติทำลายตัวมันเอง รวมทั้งการปฏิวัติสตาลิน ก็เช่นกันต่อให้เป้าดีแต่ทำคนตายไป 30 ล้านคน จะดีได้อย่างไร" อาจารย์ชัยวัฒน์ ตั้งคำถาม และยืนยันว่า วิธีการเลยสำคัญสำหรับสันติวิธีไม่ใช่เป้าหมาย 

และตัวแบ่งสันติวิธี ตัวสุดท้าย คือ 

3. คนใช้ต้องทนรับความเจ็บเสียเอง ในตัวคนอื่นเราเห็นเราด้วย ซึ่งเป็นยากมาก ขณะที่เหตุผลที่เราไม่หยิบอาวุธไปทำอะไรคนมีได้หลายอย่าง แต่บ่อยครั้งไม่ใช่เรื่องศาสนาเพียงอย่างเดียว


สีของการเมืองไทย ไม่สะอาดอย่างที่เราคิด 


"ผมกำลังจะบอกว่าเราอยู่ในเงื่อนไขสังคมที่ไม่เคยอยู่มาก่อน ต้องการความคิดความอ่านอีกมาก" ความขัดแย้งในสังคมไทย ถึงอย่างไรอาจารย์ชัยวัฒน์ ก็ยังเห็นว่า แก้ยาก ด้วยเหตุผลเราขัดกันในเรื่องเป้าหมาย เวลานี้อะไรคือเป้าของสังคมไทย โดยเฉพาะระยะสั้นประชาธิปไตยก็ไม่ตรงกัน ซึ่งกาลครั้งหนึ่งเคยตรงกัน, วิธีเริ่มขัดกัน ขณะนี้เรามีคำถามเรื่องการเลือกตั้ง ทั้งๆที่การเลือกตั้งเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่มากของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง หลักทางการเมือง ปัญหาใครจะครองอำนาจ สุดท้ายสังคมไทยมาถึงความขัดแย้งในจินตนาการความเป็นไทย เราจะเป็นไทยแบบไหน นิยามความเป็นไทยไม่เหมือนกัน จึงมีข้อเสนอประหลาดๆเกิดขึ้น


"เรื่อง สีของสันติวิธี และคำถามอะไรคือสันติวิธี เช่น การยึดสนามบิน ปิดถนน ขว้างอุจจาระ ซึ่งหากตอบบนฐานของเสื้อที่เราสวมไม่ช่วยแก้ปัญหา ต้องตอบบนฐานของสิ่งที่มันเป็น" อาจารย์ชัยวัฒน์ ย้ำชัด และว่า ในเงาของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถ้าไม่พูดถึงสันติวิธีก็จะเป็นอันตราย แต่หากพูดโดยไม่เผชิญกับมันจริงๆ โดยไม่เห็นว่าสีของมัน ไม่ได้ขาวอย่างที่เราคิด ขณะที่มีการศึกษาพบ การใช้สันติวิธีทั่วโลกไม่ได้เชื่อในหลักการใช้ไม่ใช่เพราะเชื่อว่าถูก แต่ใช้เพราะมันเวิร์ก


สี ของสันติวิธี ในสายตานักสันติวิธีผู้นี้ จึงไม่ใช่สีขาว แต่เป็นสีเทา ในการเมืองของสีในประเทศไทย ตัววิธีการเองก็สีเทา ไม่ใช่สะอาดอย่างที่เราคิด ดังนั้นสีขาวแท้จริงอาจไม่มี สีดำแท้จริงอาจไม่มี
สุดท้าย ความหมายของสันติวิธีนั้นก็ยังคลุมเครือและ "ยุ่ง" กว่าที่เราคิด!

                              http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1268737717&grpid=&catid=02
ขอเชิญอ่าน blog.Thank you so much.
http://www.thaifreedompress.blogspot.com/
http://sunblog1951.blogspot.com/ sunday
http://blogpwd.blogspot.com/ pwd9
http://ktblog1951.blogspot.com/ pwday
http://newsblog9.blogspot.com/ news
http://bloghealth99.blogspot.com/ health
http://labour9.blogspot.com/ labour
http://www.media4democracy.com/th/
http://www.youngtelecom.org/
http://www.logex.kmutt.ac.th/
http://www.mict4u.net/thai/
http://www.chula.ac.th/visitors/thai/calendar.htm
http://www.agkmstou.com/2008/index.php
http://www.baanjomyut.com/library/lotus/index.html
http://www.asianbarometer.org/newenglish/introduction/default.htm
http://www.isriya.com/node/2809
/wordcamp-bangkok-2009-pool-party
C:\Documents and Settings\user\My Documents\ไฟล์ที่ได้รับของฉัน\issarachon1101.wma
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=hiansoon

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น